ก้าวใหม่ของการศึกษาดนตรีในประเทศไทย

รศ. ณรงค์ชัย ปิฎกรัชต์

                       ปีการศึกษา ๒๕๔๕ เป็นปีที่มีการขับเคลื่อนทางการศึกษา หลังจากที่มีพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ มีคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษา และมีการพัฒนาโครงสร้างหลักสูตรวิชาการสาขาต่างๆ โดยเฉพาะการมุ่งเข้าสู่การดำเนินงานบริหารการศึกษาและการจัดทำหลักสูตร ตามแนวการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่มีการกำหนดโครงสร้างการศึกษา ๑๒ ปี ให้เยาวชนของชาติได้รับความเสมอภาคในการเรียนรู้ พัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างต่อเนื่อง ตลอดชีวิต จุดหมายปลายทางของการปฏิรูปการศึกษาจึงอยู่ที่ การดำเนินการเพื่อให้เด็กไทยได้เกิดการเรียนรู้ที่นำไปสู่ความเป็นคนเก่ง เป็นคนดี และมีความสุขในการดำรงชีวิต เป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ

                     กระทรวงศึกษาธิการได้ออกคำสั่งให้ใช้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๔๔ เมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๔ กำหนดให้ปีการศึกษา ๒๕๔๕ เป็นปีเริ่มใช้หลักสูตรขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดโรงเรียนนำร่อง และโรงเรียนเครือข่ายสำหรับทดลองไว้จำนวนหนึ่ง เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างลงตัวแล้วขั้นตอนต่างๆ แล้วจึงขยับเคลื่อนนำเนื้อหา หลักสูตร ของแต่ละวิชาไปสู่โรงเรียนทุกแห่งทั่วประเทศ โดยขยายอย่างเป็นขั้นตอนครอบคลุมการศึกษาทั้ง ๑๒ ชั้นปี ที่มีการแบ่งช่วงชั้นออกเป็น ๔ ช่วงชั้นของมาตรฐานการเรียนรู้

                     ปีการศึกษา ๒๕๔๖ เป็นปีเริ่มใช้หลักสูตรของระบบการศึกษา ตามโครงสร้างหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างเป็นทางการทั้ง ๔ ช่วงชั้น โดยเริ่มจากปีที่เป็นอันดับแรกของช่วงชั้น คือ ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔ ก้าวย่างตามขั้นตอนเมื่อเด็กนักเรียนของปีอันดับแรกผ่านขึ้นสู่ชั้นที่สูงขึ้น ดังนั้นในปีการศึกษา ๒๕๔๗ ระบบการศึกษาตามหลักสูตรขั้นพื้นฐานก็ขยับตาม มี ๒ ชั้นปี ซึ่งเป็นชั้นใหม่กับชั้นเดิม คือ ช่วงชั้นที่ ๑ สำหรับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ และ ๒ ช่วงชั้นที่ ๒ สำหรับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ และ ๕ ช่วงชั้นที่ ๓ สำหรับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ และ ๒ ช่วงชั้นที่ ๔ สำหรับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔ และ ๕ ท้ายสุดของระบบคือปีการศึกษา ๒๕๔๘ ที่ทุกชั้นปีของทุกช่วงชั้น ต้องเข้าสู่โครงสร้างหลักสูตรอย่างสมบูรณ์

                       วิชาดนตรีจัดอยู่ในกลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ เป็นกลุ่มวิชาหนึ่งที่ได้รับการนำมาศึกษา วางแผน และปรับโน้มให้ดำเนินไปตามจุดเปลี่ยนดังกล่าวนั้นด้วย ปัญหาเดิมของการจัดเนื้อหาวิชาการดนตรีจากหลักสูตรฉบับก่อน อยู่ที่การรวบเนื้อหาและระยะเวลาการจัดการเรียนการสอนร่วมกับวิชานาฏศิลป์ และทัศนศิลป์ สูตรสามรวมเป็นหนึ่งไม่เพียงพอต่อการปรุงคุณภาพชีวิตเด็กไทย เนื้อหาในหลักสูตรมีการยื้อยุดตามครูผู้สอน โรงเรียนขนาดเล็ก และขนาดกลาง หรือที่อยู่ต่างจังหวัด ประสบปัญหามีครูไม่ครบสาขาวิชา ซ้ำไปกว่านั้นครูต้องสอนข้ามเนื้อหาที่ตนไม่มีทักษะปฏิบัติ ครู

                        ดนตรีต้องสอนวิชาวาดรูป ปั้น แกะ และรำไทย ครูนาฏศิลป์ต้องสอนวาดรูป สอนดนตรี ครูทัศนศิลป์ต้องสอนรำไทยและสอนดนตรี    ตัวอย่างจริงก็คือครูดนตรีสอนนักเรียนรำ โดยใช้รูปภาพประกอบจากตำรา จีบคว่ำ จีบหงาย ตั้งวง กระดกเท้า ดูวุ่นวายไปหมด      สำหรับโรงเรียนที่มีครูสอนครบทั้ง ๓ วิชา จัดว่าโชคดีกว่า แต่ก็ใช่ว่าจะสอนได้เต็มที่ เพราะต้องสลับฐานกันสอน ครูแต่ละคน สอนหนึ่งในสามของเวลาที่กำหนดไว ้ในหนึ่งภาคเรียน นักเรียนแต่ละแห่งจึงซึมซับรับรู้เนื้อวิชาแตกต่างกัน ระยะเวลาของทักษะที่จำกัด ทำให้นักเรียนในชาติทั้งระบบ ไม่สามารถกอบเก็บสาระ ของการเรียนรู้ได้อย่างครบถ้วน ปัญหานี้จึงมีการนำเข้าสู่วงวิชาการ มีการประชุมสัมมนากันอย่างกว้างขวาง ต่อเนื่องนานมากกว่า ๑๐ ปี จนมีพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่เปิดกว้างในศาสตร์ของศิลปะทั้ง ๓ วิชา ในมาตรา ๖ ได้กำหนดกรอบและความมุ่งหมายไว้ว่า การจัดการศึกษาต้องเป็นไปเพื่อพัฒนาคนไทย ให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้ และคุณธรรม มีจริยธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข

                         การจัดกิจกรรมการเรียนรู้กลุ่มวิชาศิลปะ มีการดำเนินงานมาหลายครั้ง หลักสูตรใหม่ได้ให้ความสำคัญต่อกลุ่มวิชานี้ โครงสร้างของกลุ่มวิชาศิลปะแยกออก ๓ ส่วนอย่างชัดเจน เป็นการเรียนรู้กลุ่มสาระทัศนศิลป์ กลุ่มสาระนาฏศิลป์ และกลุ่มสาระดนตรี ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้มีชั่วโมงการจัดการเรียนการสอนทุกช่วงชั้นปี คณะกรรมการชุดก่อนหน้านี้ได้จัดวางกรอบมาตรฐานการเรียนรู้ คือมาตรฐาน ศ ๒.๑ โดยมีสาระที่มุ่งความเข้าใจ การแสดงออกทางดนตรีอย่างสร้างสรรค์ วิเคราะห์ วิพากษ์ วิจารณ์ คุณค่าดนตรี ถ่ายทอดความรู้สึก ความคิดต่อดนตรีอย่างอิสระ และประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ส่วนมาตรฐาน ศ 2.2 มีสาระมุ่งที่ความเข้าใจ การสดงออกทางดนตรีอย่างสร้างสรรค์ วิเคราะห์ วิพากษ์ วิจารณ์คุณค่าดนตรี ถ่ายทอดความรู้สึก ความคิดต่อดนตรีอย่างอิสระ ชื่นชม และประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน (ต่อ) สาระของ มาตรฐาน ศ ๒.๑ และ ศ ๒.๒ เป็นความต่อเนื่องกัน ซึ่งนับเป็นส่วนดีสำหรับเยาวชนไทยที่จักได้มีโอกาสเรียนรู้ดนตรีอย่างเพียงพอ มีระยะเวลามากพอสำหรับพัฒนาความสมบูรณ์ ตามกรอบและความมุ่งหมายในมาตรา ๖ ดังได้กล่าวยกมาข้างต้น

                        การลงลึกในสาระการเรียนรู้ กลุ่มวิชาดนตรีนี้ กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในภาระงานนี้ ได้ให้เกียรติแก่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดทำคู่มือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ กลุ่มสาระดนตรี แม้ว่าระยะเวลาดำเนินงานมีค่อนข้างจำกัดอย่างมาก ปีการศึกษาใหม่กำลังจะเริ่มเปิดเรียน เมื่อวิทยาลัยได้รับความมอบหมายเช่นนี้แล้ว รองศาสตราจารย์ ดร.สุกรี เจริญสุข ผู้อำนวยการวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ในฐานะประธานคณะทำงานจึงแต่งตั้ง คณาจารย์ของวิทยาลัยเพื่อทำคู่มือนี้ทันที คณาจารย์ของวิทยาลัยหลายท่าน ทั้งดนตรีไทย ดนตรีสากล ต่างระดมสมอง ความรู้ ประสบการณ์ อภิปราย ถกเถียง กลั่นประเด็นเนื้อหาสาระ เริ่มตั้งแต่การกำหนดวิสัยทัศน์ ปรัชญา แนวคิดของสาระดนตรี ด้วยประโยคที่สั้น กระทัดรัดแต่เป็นกรอบความคิดของปรัชญาที่เด่นกระจ่าง ที่ว่า เด็กไทยต้องได้เรียน ได้เล่น ได้รู้ และรักดนตรี จากนั้นคณะทำงานจึงยกนำกระบวนเนื้อความ ของมาตรฐานการเรียนรู้มาพิจารณาให้มุ่งเป้าไปสู่กรอบปรัชญา มีเนื้อหาดนตรี ๗ หัวข้อ ที่ต้องการคือ

- ดนตรีในชีวิตประจำวัน
- เสียง
- การขับร้อง
- การปฏิบัติเครื่องดนตรี
- ทฤษฎีและองค์ประกอบดนตรี
- ประวัติดนตรี
- การฟังและการวิจารณ์ดนตรี

                        ในแต่ละหัวข้อของสาระการเรียนรู้ กระจายไปสู่แต่ละช่วงชั้น คือช่วงชั้น ป.๑ - ป.๓ ช่วงชั้น ป.๔ - ป.๖ ช่วงชั้น ม.๑ - ม.๓ และช่วงชั้น ม.๔ - ม.๖ ทุกช่วงชั้นกำหนดระดับเนื้อหาความง่ายไปสู่รายละเอียดที่มีความซับซ้อนขึ้น และบางส่วนของ

                                                                                                                                                          9
                        เนื้อหาเป็นขั้นตอนของพัฒนาการเรียนรู้ตามวัยของนักเรียน โดยให้มีความสอดคล้องต่อเนื่องกัน ทั้งแนวคิด วัตถุประสงค์ เนื้อหา กระบวนการจัดการเรียนรู้ กิจกรรม การวัดผลและการประเมินผล

                        สาระดนตรีที่กำหนดไว้ในคู่มือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้มีขอบข่ายของเนื้อหาดนตรี ๓ ส่วน คือดนตรีไทย ดนตรีสากล และดนตรีพื้นบ้านไทย แต่ละส่วนมีภาคทฤษฎี ภาคปฏิบัติ ขอบข่ายของสาระมุ่งเสริมให้เยาวชนไทยได้เรียน เรียนเพื่อรู้ ได้ฟังเพลง ได้ร้องเพลง ได้เล่นเครื่องดนตรีจากบทเพลงต่างๆ เล่นทำนองเพลงได้ รู้จังหวะ เล่นคนเดียวหรือเล่นร่วมวงกับเพื่อนๆ ประวัติดนตรี เรียนดนตรีจากแหล่งเรียนรู้ที่ใกล้ตัวเองออกไปสู่ความเป้นดนตรีของชาติ ดนตรีของโลก จนมีความสามารถจำแนกแยกรู้ วิพากษ์ วิจารณ์คุณค่าของดนตรีได้ ด้วยตนเอง จนดนตรีซึมซาบเข้าไปสู่กลไกความตื่นรู้ และนำไปสู่ความรักดนตรี อันเป็นเป้าหมายของหลักสูตรการศึกษาชาติที่ต้องการให้เด็กไทย มีความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เป็นคนดี และมีความสุข

                        นอกจากสาระดนตรีที่เป็นแนวหลักในคู่มือดังกล่าวแล้วยังมีส่วนของกิจกรรม ดนตรี ที่ใช้เป็นตัวอย่างสำหรับให้ครูนำไปใช้เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอน หรือเป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมด้วย คู่มือนี้จึงมีประโยชน์โดยตรง สำหรับครูในการใช้จัดการเรียนการสอน มีตัวอย่างกิจกรรม มากกว่า ๒๐ กิจกรรม ซึ่งครูสามารถนำไปปรับปรุง กิจกรรมที่ต้องการได้ ในแต่ละหัวข้อของสาระการเรียนรู้ มีสาระสำคัญบอกไว้เพื่อให้ทราบว่าเป็นสาระดนตรีหัวข้อใด จากนั้น จึงยกตัวอย่างกิจกรรมโดยในแต่ละตัวอย่างมีขั้นตอนของ แนวคิด สาระหลัก จุดประสงค์การเรียนรู้ กระบวนการจัดการเรียนรู้ กลวิธีการจัดกิจกรรม การวัดและประเมินผล สื่อและแหล่งเรียนรู้

                         คู่มือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ กลุ่มสาระดนตรี ที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ จัดทำนี้นับเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาระบบ การเรียนดนตรี ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๔๔ คู่มือนี้เป็นกุญแจการศึกษา ที่มีความสำคัญสำหรับครูดนตรีทั้งประเทศ ในปีการศึกษา ๒๕๔๕ นี้กำลังจะเริ่มต้นในโรงเรียนนำร่อง จากนั้น ในปีถัดไปก็จะนำเข้าสู่ระบบการศึกษาของชาติ ตามแผนงานของกระทรวงศึกษาธิการต่อไป.

                         ช่วยกันแสดงความคิดว่าเรียนดนตรีแล้วได้ประโยชน์อะไรบ้าง ดนตรีทำให้คนเรามีความสุข รู้สึกสบายใจ หรืออาจจะรู้สึกได้หลายอย่างขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่ได้ฟังนะคะ เด็ก ๆเรียนดนตรีอย่างน้อยเขาก็ได้รู้จักกับภาษาที่สวยงานอีกรูปแบบหนึ่ง ทำให้สมองปรอดโปร่ง เรียนดนตรี ดีจริง ๆค่ะ

                  การเรียนดนตรี ทำให้เราได้รับความรู้ เกี่ยวกับ การอ่านโน้ตเขียนโน้ต การฟังดนตรีในรูปแบบต่าง ๆ การเล่นเครื่องดนตรี การแต่งเพลง การรู้ถึงโครงสร้างทางดนตรี เช่น บันไดเสียง คอร์ด ฟอร์มเพลง การซ้ำทำนอง การเปลี่ยนทำนอง การเรียบเรียงเสียงประสานประวัติดุริยกวีสมัยต่าง ๆ รวมทั้งบทเพลงของเขา รู้ถึงความสัมพันธ์ของดนตรีกับชีวิต และอารมณ์รู้จักสไตล์เพลงแบบต่าง ๆ ทั้งสมัยโบราณและปัจจุบัน รู้จักนำดนตรีไปใช้ในโอกาสต่าง ๆ ที่เหมาะสม

                  ดนตรีคุณภาพเพื่อคุณภาพชีวิต

                  พัฒนาการของเด็กแบ่งแยกออกได้ดังนี้ คือ พัฒนาการทางกาย ด้านจิตใจ ด้านอารมณ์ ด้านสังคม และด้านสติปัญญา ซึ่งพัฒนาการเหล่านี้ไม่มีดนตรีเด็กก็ต้องพัฒนาไปอย่างธรรมชาติอยู่แล้ว แต่ดนตรีจะช่วยให้การพัฒนาของเด็กเป็นไปอย่างมีคุณภาพ พัฒนาการทางด้านสมองแบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ พัฒนาการทางกายภาพ ขนาดของสมองโตขึ้นตามไวของเด็ก และพัฒนาการภายในสมอง การที่มนุษย์มีเส้นใยสมองมากตั้งแต่เด็กจะทำให้เรียนรู้เร็วและง่ายขึ้น ฉลาดว่องไว และเข้าใจเหตุผลได้มากขึ้น การเรียนดนตรี เสียงดนตรีทำให้ใยประสาทในสมองพัฒนาแตกกิ่งก้านสาขามากขึ้น จากการแปรสัญลักษณ์ตัวโน้ตออกมาเป็นเสียงเพลง ที่มีจังหวะ ทำนอง ไพเราะ ผู้เรียนต้องใช้ความคิดและความตั้งใจ อย่างมาก จึงเป็นเหตุผลที่ดนตรีช่วยกระตุ้นให้เส้นใยในสมอง แตกกิ่งก้าน มากมายเด็กที่ไม่ได้เรียนดนตรีจึงเสียโอกาสในการสร้างเส้นใยในสมอง จึงมิใช่เรื่องแปลกที่ผู้คนในเมืองหลวง ต่างก็แห่แหนให้ลูกเรียนดนตรีกันตั้งแต่ 3 ขวบเพื่อให้ลูกได้รับโอกาสที่ดีกว่าและเหนือกว่าอีกทั้งเป็นการกล่อมเกลาจิตใจให้อ่อนโยน อดทน ตั้งแต่เด็กจึงน่าเป็นห่วงหากใครจะหันหลังให้กับการเรียนดนตรีในสมัยนี้ ผู้ที่มีศิลปะดนตรีในหัวใจย่อมทำให้มีชีวิตชีวา ดนตรีจึงเป็นหุ้นส่วนของชีวิตที่สำคัญ “กินข้าวเพื่อให้มีชีวิตอยู่ มีดนตรีเพื่อให้อยู่อย่างมีชีวิต”